จากปัญหาความยากจนต้องดิ้นรนหาเช้ากินค่ำของคนในชุมชนแออัดทำให้ต้องทอดทิ้งลูกหลานให้อยู่ตามลำพัง ไม่มีใครดูแล ครูประทีป และครูมิ่งพร(พี่สาว) จึงรับดูแลเด็กเหล่านี้โดยใช้บริเวณใต้ถุนบ้านของตนเอง โดยคิดค่าใช้จ่ายเพียงวันละ 1 บาท ด้วยความรัก และเข้าใจถึงปัญหา ไม่เพียงให้การดูแลเพียงอย่างเดียว ยังให้การศึกษาขั้นพื้นฐาน และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับเด็กๆ จนชาวบ้านเรียกติดปากว่า “โรงเรียนวันละบาท”
ต่อมาเมื่อจำนวนเด็กมากขึ้นมีการจัดระบบการเรียน การสอนได้มาตรฐานระดับเดียวกับกรุงเทพมหานคร ชาวบ้านจึงร่วมกันตั้งชื่อว่า “โรงเรียนชุมชนหมู่บ้านพัฒนา” แต่เนื่องจากโรงเรียนไม่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานของรัฐ จวบจนเมื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เข้ามาศึกษาชุมชนทำให้ภายนอกรู้จักสลัมคลองเตย สื่อมวลชนเผยแพร่ความเคลื่อนไหวของชุมชนอย่างต่อเนื่องเมื่อเกิดเหตุการณ์ไล่รื้อ ทำให้บุคคลภายนอกเข้ามาร่วมสมทบขบวนการต่อสู้ที่เป็นระบบ มีการตั้งตัวแทนเจรจากับรัฐเป็นครั้งแรก สลัมคลองเตยจึงได้รับความสนใจและยอมรับจากหน่วยงานของรัฐ ในที่สุดกรุงเทพมหานครก็เข้ามารับโรงเรียนชุมชนหมู่บ้านพัฒนาไว้ในสังกัดปี พ.ศ. 2519 และขยายโรงเรียนจากระดับประถมเป็นมัธยมจนกระทั่งปัจจุบัน
วันที่ 31 สิงหาคม 2521 ครูประทีปได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการชุมชน จากประเทศฟิลิปปินส์ ด้วยเงินรางวัลจำนวน 20,000 เหรียญดอลล์ล่าสหรัฐ หรือประมาณ 402,500 บาท จึงได้ก่อตั้งองค์กรการกุศลที่ชื่อว่า “มูลนิธิดวงประทีป” หมายถึง แสงสว่าง เปลวไฟล้อมอักษรตัว “ด” หมายถึง การพัฒนาเด็กในทุกๆ ด้าน และได้รับเกียรติอย่างยิ่งจาก พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นประธานมูลนิธิฯ คนแรก นับเป็นการตอบรับความเป็นองค์กรพัฒนาชุมชนจากรัฐบาลที่ไม่เคยมีมาก่อน